100 ปี ธงไตรรงค์ กับรหัสสี

100 ปี ธงไตรรงค์ กับรหัสสี

วันนี้หลายคนที่เข้า Google อยู่เป็นประจำ คงจะเห็นผ่านตามาบ้าง ว่า Google Doodle ของวันนี้เป็นรูปอะไร … รูปธงชาติไทยของเรานั่นเอง

วันนี้ เราจะมาพูดถึงเรื่องราวความเป็นมาของธงชาติไทย หรือธงไตรรงค์ และค่ารหัสสี ที่ถูกต้อง หรือใกล้เคียงกับสีดั้งเดิมมากที่สุด

ลักษณะธง

ธงชาติไทยปัจจุบัน หรือ ธงไตรรงค์ มีลักษณะเป็นธงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ใช้สีหลักในธง 3 สี คือ สีแดง ขาว สีน้ำเงินขาบ ภายในแบ่งเป็นแถบ 5 แถบ แถบในสุดสีน้ำเงิน ถัดมาด้านนอกทั้งด้านบนและล่างเป็นสีขาวและสีแดงตามลำดับ แถบสีน้ำเงินมีขนาดใหญ่กว่าแถบสีอื่นเป็น 2 เท่า

ธงชาติไทย

สัดส่วน

  • เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า
  • กว้าง 6 ส่วน ยาว 9 ส่วน
  • ด้านกว้างแบ่งเป็น 5 แถบ
  • ตรงกลางเป็นแถบสีน้ำเงินกว้าง 2 ส่วน
  • แถบสีขาวและสีแดง กว้างแถบละ 1 ส่วน

สัดส่วนของธงชาติไทย

ความหมาย

ธงไตรรงค์นั้นหมายถึงสถาบันหลักทั้งสามของประเทศไทย และเป็นที่มาของการเรียกชื่อธงนี้ว่าธงไตรรงค์ (ไตร คือ สาม, รงค์ คือ สี)

  • สีแดง หมายถึง ชาติ
  • สีขาว หมายถึง ศาสนา
  • สีน้ำเงิน หมายถึง พระมหากษัตริย์

 

พัฒนาการของธงชาติไทย

ธงสีแดงเกลี้ยง

ธงสีแดงเกลี้ยง สมัยอยุธยา

ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แห่งกรุงศรีอยุธยา เมื่อเรือคนต่างชาติล่องเข้ามา เขาจะมีธรรมเนียมประเพณีการชักธงประเทศบนเรือ เพื่อแสดงสัญลักษณ์ว่า มาถึงแล้ว แต่ทางฝั่งไทย (หรืออยุธยาในตอนนั้น) ไม่มีธงเป็นสัญลักษณ์ จึงได้หยิบผ้าผืนสีแดงที่หาได้ใช้เป็นสัญลักษณ์แสดงต่อคนต่างชาติ และก็เริ่มใช้ธงผ้าสีแดง เป็นสัญลักษณ์ใบเรือ และป้อมประจำการสืบมา (แต่ยังไม่ใช่ธงประจำชาติ)

ธงสี่เหลี่ยมพื้นแดง ตรงกลางมีรูปวงจักรสีขาว

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ยังคงมีการใช้ธงเป็นพื้นสีแดงบนเรือ  แต่ได้มีการเพิ่มจักรสีขาวลงในธงที่ใช้บนเรือหลวง เพื่อแสดงความแต่กต่างระหว่างเรือของพระมหากษัตริย์ กับเรือของราษฎรสยาม

ธงสี่เหลี่ยมพื้นแดง ตรงกลางมีรูปช้างเผือกในวงจักรสีขาว

ต่อมาในสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงให้เพิ่มรูปช้างเข้าไปภายในวงจักรของเรือหลวง ปี 2360

ธงช้างเผือก

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการทำสนธิสัญญากับชาติตะวันตกมากขึ้น ทำให้สยามจำเป็นต้องมีธงชาติใช้ตามธรรมเนียมตะวันตก ธงช้างเผือกนี้จึงเป็นธงแรกที่ใช้บนแผ่นดิน

ธงแดงขาว 5 ริ้ว

หลังจากใช้ธงช้างเผือกมานานจนในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 จึงให้เปลี่ยนเป็นธงสีเหลื่ยมผืนผ้า มีแถบ 5 แถบ สีแดงและขาวสลับกัน ใช้เป็นธงสามัญทั่วไป และใช้ธงพื้นแดง ตรงกลางมีรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่น เป็นธงสำหรับราชการ

ธงไตรรงค์

ธงชาติไทย

จนในปี พ.ศ. 2460 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงให้เปลี่ยนแถบตรงกลางเป็นสีน้ำเงินขาบ ในสมัยนั้นสีน้ำเงินจะหมายถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ แล้วก็ใช้ธงไตรรงค์นี้เป็นธงประจำชาติมาจนปัจจุบัน ครบ 100 ปี ในวันนี้พอดิบพอดี

สีมาตรฐานของธงชาติ

สีของธงไตรรงค์ที่ใช้กันมานาน แต่ไม่ได้มีการกำหนดรหัสสีที่แน่นอนตามมาตรฐานสากล แต่กำหนดเพียงชื่อของสี คือ ธงไตรรงค์ จะใช้สีน้ำเงินขาบ ซึ่งเป็นสีน้ำเงินเข้มอมม่วง ส่วนสีแดง จะเป็นสีแดงร้อย และสีขาว เป็นสีขาวบริสุทธิ์ ไม่มีเม็ดสี เราจะทราบเพียงแค่นี้ จึงทำให้สีของธงไตรรงค์ทั่วประเทศ มีสีที่ไม่เหมือนกัน ไม่มีมาตรฐานที่แน่นอน ดังนั้นทาง พิพิธภัณฑ์ ธงชาติไทย จึงได้เทียบค่าสีธงชาติกับมาตรฐานต่าง ๆ แล้วได้ออกมาดังนี้

ระบบสี CIELAB D65

ค่ามาตรฐานการวัดสีธงชาติในลักษณะเป็นค่าแนะนำ ค่ามาตรฐานการวัดสีธงชาติในลักษณะเป็นค่าแนะนำ

สี ระบบสี CIELAB D65
L* a* b* ∆ E*
แดง 36.4 55.47 25.42 ไม่เกิน 1.5
ขาว 96.61 -0.15 -1.48 ไม่เกิน 1.5
น้ำเงิน 18.63 7.89 -19.45 ไม่เกิน 1.5
  • เครื่องมือมาตรฐานที่ใช้วัดค่ามาตรฐานการวัดสีธงชาติ ในที่นี้คือเครื่อง Colorimetric spectrophotometer หลักการ 45/0 หรือ หลักการ d/8 โดยใช้โหมดการวัดแบบ Specular Exclude ; SCE (หลักการ d/8 เส้นผ่านศูนย์กลาง sphere ต้องไม่น้อยกว่า 152  มม.), แหล่งแสงประดิษฐ์ และ มุมมองผู้สังเกตการณ์ใช้ : D65/10
  • ฟังชั่นยูวี : ตัดแสงยูวี หรือ ควบคุมได้
  • มาตรฐานที่สอดคล้อง : ASTM E1164

ระบบสี Pantone

สี ระบบสี Pantone
แดง 186c
ขาว
น้ำเงิน 2766c

ข้อมูลอ้างอิง
ธงชาติไทย

รูปภาพ

บริษัท โปรดักส์ เซิซ แอนด์ ซัพพลาย จำกัด
บริษัท โปรดักส์ เซิซ แอนด์ ซัพพลาย จำกัด
จำหน่ายสินค้าประเภทไกด์สี PANTONE, กล้องขยาย, ตู้เทียบสี Ralight , โต๊ะดูสีงานพิมพ์ , หลอดไฟคุณภาพตามมาตรฐาน ISO , เครื่องวัดค่าสี, อุปกรณ์วัดความหนา, อุปกรณ์วัดความหนืด , เครื่องวัดค่า pH, อุปกรณ์วัดค่าแอลกอฮอล์, เครื่องชั่งสีดิจิตอล, ไฟ BlackLight รวมทั้งอุปกรณ์สำหรับงานสิ่งพิมพ์ งานด้าน Textile และในงานอุตสากรรมอื่นๆ

Comments are closed.

error: Tel. 086-307-6533